ฮือฮาเจ้าสัวเจริญปรับที่ดินกลางกรุง300ไร่ ทำสวนเกษตรผสมผสาน ระหว่างรอผุดบิ๊กโปรเจ็กต์
ฮือฮาเจ้าสัวเจริญปรับที่ดินกลางกรุง300ไร่ ทำสวนเกษตรผสมผสาน ระหว่างรอผุดบิ๊กโปรเจ็กต์
แม้ปี2564 เป็นปีที่2 ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) รวมถึงกรุงเทพมหานครและพัทยา ต้องจัดเก็บภาษีเป็นรายได้เข้ารัฐ หลังพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้
แต่ด้วยเศรษฐกิจที่มีปัญหา และการระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลประกาศลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินลง90%ของจำนวนภาษีที่จ่ายจริงในปีนี้อีก 1 ปีต่อเนื่องจากปี2563 โดยเจ้าของหรือผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเสียภาษีเพียง10% ของภาระภาษีที่ต้องจ่าย
“แลนด์ลอร์ด”แห่ปรับที่ดินเข้าเกณฑ์เกษตร
ขณะที่การปรับสภาพพื้นที่ การนำที่ดินว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์เจ้าของที่ดินทั้งรายเล็กและรายใหญ่ยังมีให้เห็นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำที่ดินแปลงใหญ่ในทำเลมีศักยภาพมาใช้ประโยชน์แทนที่จะปล่อยให้เป็น
”ที่ดินรกร้างว่างเปล่า” ให้เข้าเกณฑ์”ที่ดินเกษตรกรรม” เพื่อเสียภาษีในอัตราที่ถูกลง เนื่องจากกฎหมายกำหนดอัตราเพดานภาษีอยู่ที่ 1.2% และให้ปรับเพิ่มปีละ 0.3% ทุก 3 ปี หากเป็นที่ดินรกร้าง แต่ถ้าใช้ประโยชน์เป็นที่ดินเกษตรกรรม อัตราเพดานอยู่ที่ 0.15%
ในช่วงจากปลายปี 2562 มี เจ้าของที่ดินร้างย่านรัชดาฯติดสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน เนื้อที่ 24 ไร่ ปลูกมะนาวเพื่อลดภาระภาษีที่ดิน หลังจากนั้นมีเศรษฐี แลนด์ลอร์ด ทั้งในทำเลใจกลางเมืองกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แห่ปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นพื้นที่เกษตรกรรมจำนวนมาก
“เจ้าสัวเจริญ”พัฒนาเกษตรผสมผสาน
ล่าสุดมีรายงานข่าวแจ้งว่าทางบริษัท สยามประชาคาร จำกัด ผู้ดูแลโครงการหมู่บ้านเสนานิเวศน์และบริษัทในเครือของบริษัท ทีซีซี นวมินทร์ภูมิพัฒน์ จำกัด ในกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภัคดี กำลังปรับหน้าดินติดถนนเกษตร-นวมินทร์ บริเวณแยกเสนานิเวศน์ ทั้ง 2 ฝั่ง จำนวนกว่า 300 ไร่ จากที่ปล่อยว่างมานาน นำมาพัฒนาในรูปแบบเกษตรกรรมผสมผสาน โดยปลูกต้นมะม่วงหลายสายพันธุ์ ส่วนหนึ่งเพื่อบรรเทาภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อีกทั้งเป็นการจัดการปัญหาการบุกรุกและการเกิดเพลิงไหม้
โดยบริษัทได้จ้างเอาท์ซอร์ส มาดำเนินการให้ เช่น การปรับพื้นที่ดิน การปลูก การดูแลต่างๆ โดยมีบริษัท สยามประชาคาร บริหารจัดการอีกที เป็นการดำเนินการชั่วคราว จนกว่าจะมีการพัฒนาโครงการในอนาคตที่มีแผนจะพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ มีศูนย์ประชุม โรงแรม รีเทล อยู่ระหว่างการพิจารณาและรอจังหวะที่เหมาะสม เพื่อรองรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล(แคราย-ลำสาลี)และทางด่วนที่รัฐบาลมีแผนจะก่อสร้างรายงานข่าวระบุว่า สำหรับที่ดินกว่า 300 ไร่ อยู่ฝั่งเสนานิเวศน์ 1 มีอยู่หลายแปลงโดยรวมกว่า 200 ไร่ โดยด้านหน้าติดถนนเกษตร-นวมินทร์ ด้านหลังติดกับหมู่บ้านเสนานิเวศน์1 และโรงเรียนสตรีวิทยา 2 ขณะนี้กำลังปรับหน้าดินหลังโรงเรียนสตรีวิทยา 2 ถึงบริเวณแยกเสนานิเวศน์กว่า 20 ไร่
ประชาชนที่ผ่านไปผ่านมา ต่างให้ความสนใจกันมากมาย เพราะเป็นที่ดินผืนใหญ่ที่สวยงามมาก
ส่วนอีกแปลงซึ่งอยู่บริเวณข้ามแยกไปแล้ว ได้ปรับพื้นที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะที่อีกแปลงอยู่เลยออกไป ซึ่งติดถนนเกษตร-นวมินทร์และปั้มปตตท. มีเนื้อที่กว่า 100 ไร่ ได้มีการล้อมรั้วป้องกันคนบุกรุก จะพัฒนาเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเช่นกัน
สำหรับที่ดินอีกฝั่งอยู่หลัง”นวมินทร์ซิตี้ อเวนิว”หน้าหมู่บ้านเสนานิเวศน์2 มีเนื้อที่ประมาณ 70ไร่ กำลังปรับพื้นที่ปลูกมะม่วง เป็นการพัฒนาเพิ่มเติมจากพื้นที่ด้านในหมู่บ้านเสนานิเวศน์2 ที่มีที่ดิน 61 ไร่ ได้มีการพื้นที่ว่างเป็นเกษตรกรรม โดยปลูกมะม่วงพันธุ์แก้วขมิ้นตั้งแต่ปี 2563
“เขตลาดพร้าว”เผยทำได้ตามกฎหมาย
นางสุภาพร ศรีศาสนวงศ์ ผู้อำนวยการเขตลาดพร้าว กล่าวว่า ที่ดินบริเวณนี้เป็นของบริษัท สยามประชาคาร จำกัด ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เท่าที่ทราบข้อมูลบริษัทจะทำเป็นเกษตรกรรมเพื่อลดภาระการเสียภาษีที่ดินในอัตราที่ถูกลง
“เดิมทราบว่าบริษัทจะนำที่ดินพัฒนาเป็นเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เลยชะลอไว้ จึงนำที่ดินมาปรับปรุงไม่ให้เป็นที่รกร้าง เพราะอัตราภาษีจะแพง เมื่อปีที่แล้วบริษัทก็จ่ายตามอัตราที่รัฐกำหนด 10%และปีนี้ก็จ่ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การที่ปรับพื้นที่เป็นเกตรกรรม น่าจะเตรียมรับการจ่ายในรอบปี2565 ซึ่งเขตจะต้องไปประเมินอีกครั้ง หลังปรับเสร็จแล้ว ว่าเป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ตามกฎหมายเขามีสิทธิ์ทำได้ ไม่ว่าจะปลูกมะม่วง กล้วย จะมีกำหนดไว้ว่าจะต้องปลูกกี่ต้นต่อไร่ “
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบการเกษตรกรรมที่เป็นการทำไร่ การปลูกผัก การปลูกไม้ผลยืนต้น การปลูกสวนป่า การปลูกป่าเศรษฐกิจแบบสวนเฉพาะ หรือการปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้นแบบสวนผสม จะต้องประกอบการเกษตร ให้ได้อัตราขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้ จึงจะถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์ในการประกอบการเกษตรกรรม และเสียภาษีในอัตรา 0.01%
เช่น กล้วย 200 ต้นต่อไร่ กระท้อนเปรี้ยว 25 ต้นต่อไร่ มะม่วง 20 ต้นต่อไร่ น้อยหน่า 170 ต้นต่อไร่ ฝรั่ง 45 ต้นต่อไร่ มะนาว 50 ต้นต่อไร่ เป็นต้น
เปิดอัตราเสียภาษีที่ดินฯ
ขณะที่อัตราภาษีที่ดินแต่ละประเภทที่กฎหมายกำหนด ประกอบด้วย 1.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ประกอบเกษตรกรรม มูลค่าไม่เกิน 75 ล้านบาท เสียอัตรา 0.01% มูลค่า 75-100 ล้านบาท เสียอัตรา 0.03% มูลค่า 100-500 ล้านบาท เสียอัตรา 0.05% มูลค่า 500-1,000 ล้านบาท เสียอัตรา 0.07% และมูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เสียอัตรา 0.1% กรณีบุคคลธรรมดาจะได้รับยกเว้นภาษีในช่วง 3 ปีแรก
2.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัย หากเป็นบ้านหลังหลัก(บ้าน+ที่ดิน) มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับยกเว้นภาษี มูลค่า 50-75 ล้านบาท เสียอัตรา 0.03% มูลค่า 75-100 ล้านบาท เสียอัตรา 0.05% และมูลค่า 100 ล้านบาทขึ้นไป เสียอัตรา 0.1%
หากใช้เป็นที่อยู่อาศัยหลังหลัก มูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท ได้รับยกเว้นภาษี มูลค่า 10-50 ล้านบาท เสียอัตรา 0.02% มูลค่า 50-75 ล้านบาท เสียอัตรา 0.03% มูลค่า 75-100 ล้านบาท เสียอัตรา 0.05% และ มูลค่า 100 ล้านบาทขึ้นไป เสียอัตรา 0.1%
บ้านที่ไม่ใช่หลังหลัก ไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียอัตรา 0.02% มูลค่า 50-75 ล้านบาท เสียอัตรา 0.03% มูลค่า 75-100 ล้านบาท เสียอัตรา 0.05% และมูลค่า 100 ล้านบาทขึ้นไป เสียอัตรา 0.1%
3.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่ใช่เกษตรกรรม และที่อยู่อาศัย เช่น ปล่อยเช่า อุตสาหกรรม อาคาร สำนักงาน โรงแรม ร้านอาหาร
จะใช้อัตราเดียวกับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามความแก่สภาพ
มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียอัตรา 0.3% มูลค่า 50-200 ล้านบาท เสียอัตรา 0.4% มูลค่า 200-1,000 ล้านบาท เสียอัตรา 0.5% มูลค่า 1,000-5,000 ล้านบาท เสียอัตรา 0.6% และ มูลค่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป เสียอัตรา 0.7% กรณีที่ว่างเปล่า หากไม่ทำประโยชน์ ภาษีจะเพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปี แต่อัตราภาษีรวมทั้งหมดต้องไม่เกิน 3%
CR : บทความจาก https://www.matichon.co.th/economy/news_2873663